image

ถ้าไม่ต่อ พ.ร.บ.- ภาษีรถยนต์ ผิดกฎหมายหรือไม่ !!?

ถ้าไม่ต่อ พ.ร.บ.- ภาษีรถยนต์ ผิดกฎหมายหรือไม่ !!?

      ในแต่ละปีเคยสงสัยไหมว่า ? เมื่อถึงเวลาต้อง “เสียภาษีป้ายทะเบียน” แล้ว ยังจะต้องต่อพ.ร.บ. รถยนต์ ควบคู่กันด้วยหรือไม่? แล้วหากไม่ต่อจะผิดกฎหมายไหม พ.ร.บ.รถยนต์ คืออะไร  ไปทำความเข้าใจพร้อม ๆ กันได้เลย !

 

พ.ร.บ.รถยนต์ คืออะไร?

      พ.ร.บ.รถยนต์ คือชื่อย่อมาจาก “พระราชบัญญัติประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ” สำหรับคำถามที่ว่าจำเป็นจะต้องต่อทุกปีหรือไม่ ก็ตรงตามชื่อเลยว่า ‘ภาคบังคับ’ ดังนั้นคุณจึงจำเป็นจะต้องต่อทุกปีแบบไม่มีเงื่อนไข ไม่อย่างนั้นจะมีความผิดทางกฎหมาย ก็คือโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท รวมถึงยังไม่สามารถจ่ายภาษีรถยนต์รายปีได้อีกด้วย !

 

อัตราค่าใช้จ่าย พ.ร.บ.รถยนต์

·                   -  รถยนต์โดยสารที่นั่งไม่เกิน 7 คน 600 บาท

·                   -  รถยนต์โดยสารเกิน 7 คน ไม่เกิน 15 ที่นั่ง 1,100 บาท

·                    - รถยนต์โดยสารเกิน 7 คน เกิน 15 ที่นั่ง ไม่เกิน 20 ที่นั่ง 2,050 บาท

·                    - รถยนต์โดยสารเกิน 7 คน เกิน 20 ที่นั่ง ไม่เกิน 40 ที่นั่ง 3,200 บาท

·                    - รถยนต์โดยสารเกิน 7 คน เกิน 40 ที่นั่ง 3,740 บาท

*หมายเหตุ: ราคายังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%

 

อัตราค่าใช้จ่าย ต่อ พ.ร.บ.รถกระบะ ปี 2566

·                   -  รถยนต์บรรทุก (รถกระบะ) น้ำหนักไม่เกิน 3 ตัน 900 บาท

·                   -  รถยนต์บรรทุก น้ำหนักเกิน 3 ตัน แต่ไม่เกิน 6 ตัน 1,220 บาท

·                   -  รถยนต์บรรทุก น้ำหนักเกิน 6 ตัน แต่ไม่เกิน 12 ตัน 1,310 บาท

·                   - รถยนต์บรรทุกน้ำมันเชื้อเพลิง แก๊ส หรือกรด ขนาดน้ำหนักรวมไม่เกิน 12 ตัน 1,680 บาท

·                   -  รถยนต์บรรทุกน้ำมันเชื้อเพลิง แก๊ส หรือกรด ขนาดน้ำหนักรวมเกิน 12 ตัน 2,320 บาท

 

อัตราค่าใช้จ่ายต่อ พ.ร.บ.รถจักรยานยนต์ ปี 2566

·                   -  เครื่องยนต์ไม่เกิน 75 CC 150 บาทขึ้นไป

·                   -  เครื่องยนต์ 75 - 125 CC 350 บาทขึ้นไป

·                   -  เครื่องยนต์ 125 - 150 CC 450 บาทขึ้นไป

·                   -  เครื่องยนต์มากกว่า 150 CC 650 บาทขึ้นไป

 

ประโยชน์ของ พ.ร.บ.รถยนต์และรถจักรยานยนต์

      ในเมื่อเราจ่ายเงินซื้อเจ้าประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับมาแล้ว ย่อมต้องมีความคุ้มครองหากเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นแน่นอน โดยเราสามารถเคลมอุบัติเหตุได้กับบริษัทประกันที่เราซื้อ พ.ร.บ.รถยนต์มา ในกรณีที่

·      - บาดเจ็บ สามารถเคลมค่ารักษาพยาบาลได้ โดยทาง พ.ร.บ.จะจ่ายตามจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาทต่อคน

·      - ทุพพลภาพ หากพิการหลังเกิดอุบัติเหตุ ทางบริษัทประกันจะจ่ายให้อีกจากค่ารักษาเบื้องต้น 30,000 บาท จากข้อ 1 แต่ไม่เกิน 65,000 บาทต่อคน

·      - เสียชีวิต ถ้าเสียชีวิตทันทีหลังจากประสบอุบัติเหตุ บริษัทประกันจะจ่ายเงินค่าทำศพ 35,000 บาทต่อคน แต่หากเสียชีวิตหลังจากรับการรักษาไปแล้ว (จากข้อ 1 ตามวงเงินรักษา 30,000 บาทต่อคน) ทางประกันก็จะจ่ายแบบเหมารวมไม่เกิน 65,000 บาท

      อันนี้เป็นการเคลมได้ทันทีโดยไม่ต้องรอพิสูจน์ความผิดของผู้เอาประกันภัย แต่หากพิสูจน์ยืนยันว่าผู้ขับฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิด ฝั่งบริษัทประกันที่เป็นฝ่ายผิดจะรับผิดชอบแก่ผู้เสียหาย ในกรณีบาดเจ็บ รับค่าชดเชยไม่เกิน 80,000 บาท แต่หากเสียชีวิต หรือพิการ จะชดเชยเป็นเงิน 500,000 บาท

 

ขั้นตอนเคลม พ.ร.บ.

      ผู้บาดเจ็บ หรือทายาท สามารถยื่นเรื่องขอรับค่ารักษาพยาบาลด้วยตนเอง หรือมอบอำนาจให้โรงพยาบาลเป็นผู้รับแทนก็ได้ภายใน 7 วัน โดยไม่ต้องรอพิสูจน์ความผิด และระยะเวลาในการขอใช้สิทธิ์ พ.ร.บ.ภายใน 180 วันหลังจากวันที่เกิดเหตุ โดยเตรียมหลักฐานให้ครบ ดังนี้

              1. สำเนาบัตรประชาชนทั้งผู้บาดเจ็บและเจ้าของรถ

              2. สำเนาทะเบียนบ้าน

              3. สำเนาบันทึกประจำวันจากตำรวจ

              4. สำเนาหนังสือจดทะเบียนรถ

              5. ตารางกรมธรรม์ประกันภัย

              6. ใบเสร็จรับเงินและใบรับรองแพทย์จากทางโรงพยาบาลที่เข้ารับการรักษา

      สำหรับในกรณีเสียชีวิต นำเอกสาร สำเนาบันทึกประจำวันพนักงานสอบสวนที่แสดงว่าผู้รับประกันถึงแก่ความตายจากประสบภัยจากรถ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ประสบอุบัติเหตุ สำเนาบัตรประชาชนทายาท สำเนาทะเบียนบ้าน และสำเนาใบมรณบัตร ยื่นกับทางบริษัทประกันนั้น ๆ